จังหวัดสกลนคร ประจำปี 2567

สถาบันศิลปวัฒนธรรมและพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ศึกษาดูงาน แลกเปลี่ยนองค์ความรู้เพื่อพัฒนาภูมิปัญญาท้องถิ่นและศิลปะวัฒนธรรมจังหวัดสกลนคร
การศึกษาดูงานดังกล่าวนำโดย ดร.เริงศักดิ์ แก้วเพ็ชร ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาสังคมศิลปวัฒนธรรมและสิทธิประโยชน์ พร้อมด้วยคณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษาทุนความสามารถพิเศษด้านศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต
ซึ่งได้รับการต้อนรับจาก ดร.รัชดาพรรณ อินทรสุขสันติ รองผู้อำนวยการสถาบันภาษา ศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร พร้อมด้วยคณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา
กิจกรรมภายในโครงการประกอบด้วยการหารือเกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น การสนับสนุนความร่วมมือทางวิชาการด้านการศึกษา วิจัย และการพัฒนาการบูรณาการการเรียนการสอน โดยเน้นการสร้างสรรค์งานด้านเทคโนโลยี ดนตรี ศิลปะการแสดง และศิลปวัฒนธรรมในมิติต่างๆ นอกจากนี้ยังมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อประยุกต์ใช้และต่อยอดองค์ความรู้ร่วมกันระหว่างสองสถาบัน
นอกจากนี้ได้เข้าเยี่ยมชม พิพิธภัณฑ์เมืองสกลนคร ซึ่งเป็นแหล่งรวบรวมและจัดแสดงโบราณวัตถุที่สำคัญของเมืองสกลนครและพื้นที่ใกล้เคียง รวมถึงองค์หลวงพ่อพระองค์แสน (พระแสนเมืองสกล) พระบางเมืองสกล เทวรูปพระอิศวร และโบราณวัตถุที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์
อีกทั้ง คณะฯ ยังได้รับชมการแสดงศิลปวัฒนธรรมจาก ชมรมแก่นศิลป์ราชพฤกษ์ ของนักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร ซึ่งนำเสนอการแสดงพื้นบ้านอันเป็นเอกลักษณ์ของท้องถิ่น
ณ พิพิธภัณฑ์เมืองสกลนคร มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร อำเภอเมือง จังหวัดสกลนครในวันศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 2568
สถาบันศิลปวัฒนธรรมและพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต
ร่วมอนุรักษ์การแสดงศิลปะพื้นบ้าน กลุ่มเยาวชนนาคเล่นน้ำ จังหวัดสกลนคร
นำโดย ดร.เริงศักดิ์ แก้วเพ็ชร ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาสังคมศิลปวัฒนธรรมและสิทธิประโยชน์ พร้อมอาจารย์ บุคลากร และนักศึกษาทุนความสามารถพิเศษด้านศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต ศึกษา เรียนรู้และแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมเกี่ยวกับการละเล่นพื้นบ้านและมวยโบราณ ได้รับความร่วมมือจากกลุ่มเยาวชนนาคเล่นน้ำ จังหวัดสกลนคร โดยมี ครูแม็กและครูแชมป์ คุณครูผู้ดูแล ซึ่งเป็นกลุ่มเยาวชนที่มุ่งเน้นการอนุรักษ์และสืบสานศิลปะการแสดงมวยโบราญดั้งเดิมของไทย
การศึกษาดูงานครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่นและพัฒนาสังคม ผ่านการแลกเปลี่ยนเชิงปฏิบัติ โดยนักศึกษาได้ร่วมฝึกซ้อมและเรียนรู้เทคนิคมวยโบราณที่สืบทอดกันมาในชุมชน ควบคู่ไปกับการร่วมกิจกรรมการละเล่นพื้นบ้านที่สะท้อนวิถีชีวิตและภูมิปัญญาท้องถิ่นภาคอีสาน
อาจารย์ผู้ควบคุมโครงการฯ ระบุว่า กิจกรรมครั้งนี้ช่วยให้เยาวชนได้เรียนรู้ถึงรากเหง้าของศิลปะการแสดงและศิลปะการละเล่นของไทย ในขณะเดียวกันก็เป็นโอกาสในการสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวัฒนธรรมระหว่างสถาบันการศึกษาและชุมชน
ทางด้านตัวแทนกลุ่มเยาวชนนาคเล่นน้ำ กล่าวถึงความสำคัญของการสืบทอดมวยโบราณว่า เป็นมรดกภูมิปัญญาที่สะท้อนอัตลักษณ์ของท้องถิ่น ซึ่งต้องอาศัยการถ่ายทอดและฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง โดยโครงการแลกเปลี่ยนเช่นนี้ช่วยกระตุ้นให้เยาวชนรุ่นใหม่เห็นคุณค่าและสนใจเรียนรู้ศิลปะการแสดงแบบดั้งเดิมมากขึ้น
การแลกเปลี่ยนครั้งนี้เป็นก้าวสำคัญในการเสริมสร้างความเข้าใจและความตระหนักถึงความสำคัญของศิลปวัฒนธรรมไทย โดยเฉพาะในบริบทของการอนุรักษ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของสถาบันศิลปวัฒนธรรมและพัฒนาสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต

Leave a reply

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *